ธุรกิจรับสร้างบ้านยังเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าตลาดรวมปีนี้แตะ 12,500 ล้านบาท เผยบ้านระดับกลางบนยังคงหนุนตลาดเติบโต ขณะที่สัดส่วนของบ้านในต่างจังหวัดขยายตัวเพิ่ม มั่นใจปีหน้ายังเติบโตได้ 5 – 7% คาด รัฐบาลเตรียมกระตุ้นภาคที่อยู่อาศัย ขณะที่แบงก์พร้อมให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งเดินแผนพัฒนาสมาคมฯด้านอื่นๆ เต็มรูปแบบ
นางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมราว 12,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5 % เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าตลาดรวม 12,000 ล้านบาท โดยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ ส่งผลกระทบกับตลาดรับสร้างบ้านพอสมควร โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีระยะเวลาการตัดสินใจในการเลือกสร้างบ้านที่นานขึ้น แต่เมื่อมีการกระตุ้นทำโปรโมชัน หรือการจัดงานแสดงสินค้า รับสร้างบ้าน 2019 ก็สามารถกระตุ้นภาพรวมตลาดช่วงปลายปีได้ค่อนข้างดีเช่นกัน ประกอบกับตลาดในต่างจังหวัดมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้ตัวเลขภาพรวมยังคงมีการขยายตัวได้
ภาพรวมปีนี้สมาคมฯ ถือว่าพอใจกับการขยายตัว โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดในปีนี้ยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการคือ ประการแรกบ้านระดับกลางบนในปีนี้มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น จาก การสำรวจยอดขายภายในงาน รับสร้างบ้านและวัสดุ 2019 พบว่า บ้านระดับราคา 5.01 – 10 ล้านบาท ยังคงมีสัดส่วนสูงสุดคือ 28.71% รองลงมาคือบ้านระดับราคา 20.01 ล้านบาทขึ้นไป 23.98% และบ้านระดับราคา 10.01 – 20 ล้านบาท ที่ 23.88% ประการที่สอง กำลังซื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี 2560 สัดส่วนของการปลูกสร้างบ้านในกรุงเทพและปริมณฑล และต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 90:10 % ปี 2561 สัดส่วนปรับเป็น 80:20% ขณะที่ในปีนี้ สัดส่วนในต่างจังหวัดยังคงมีปริมาณมากขึ้นมาอยู่ที่ 75:25% การที่ตลาดในต่างจังหวัดขยายตัวเพิ่มขึ้นมีเหตุผลมาจาก บริษัทรับสร้างบ้านหลายบริษัทขยายการทำธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพมากขึ้น ประกอบกับกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัดเริ่มมีความเชื่อมั่นและหันมาใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านแทนกลุ่มผู้รับเหมาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รวมถึงในส่วนของกฎหมายภาษีที่ดินที่เจ้าของที่ดินต้องมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทำให้ในปีนี้มีลูกค้าที่มีที่ดินในต่างจังหวัดหันมาปลูกสร้างบ้านเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
“ปีหน้าเราตั้งเป้าภาพรวมตลาดน่าจะเติบโตได้อีก 5-7% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมประมาณ 13,000 – 13,500 ล้านบาท โดยบ้านระดับกลางบนน่าจะยังเป็นตัวนำตลาดเช่นเดิม ขณะที่ตลาดในต่างจังหวัดคิดว่าจะยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและหลายๆ บริษัทจะมีการขยับออกไปทำตลาดในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น” นางศิริพร กล่าว
นางศิริพร กล่าวต่อไปว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการมากระตุ้นตลาดทางด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ขณะที่ธนาคารของรัฐเองคาดว่าน่าจะมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำออกมาให้ผู้บริโภคได้มากขึ้นตามนโยบายที่ผลักดันมาจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2563 นอกจากเป้าหมายในเรื่องของการเติบโตทางด้านมูลค่ารวมของธุรกิจแล้ว สมาคมฯ ยังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาในอีกหลายๆ ด้าน อาทิ ด้านการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ และการทำการตลาดร่วมกัน โดยล่าสุดได้มีการเซ็น MOU ร่วมกับ Japan Traditional Wooden Home Association หรือ JTA ซึ่งเป็นสมาคมของบริษัทรับสร้างบ้านประเภทไม้ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถมีการพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากการเซ็น MOU กับทางญี่ปุ่นแล้ว สมาคมฯ ยังเน้นในด้านการพัฒนาและเพิ่มจำนวนสมาชิกของ สมาคมฯ ให้เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว การให้ความสำคัญด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานของการสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับ การส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันผ่านการจัดงานแสดงสินค้า และการให้ความสำคัญกับเรื่องของการก่อสร้างที่ใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น