สดช.เปิดเวทีประชาพิจารณ์ต่อ (ร่าง) กฎกระทรวงฯ สำหรับคนพิการ พร้อมดันงบสนับสนุนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการให้คูปองดิจิทัล

สดช.เปิดเวทีประชาพิจารณ์ต่อ (ร่าง) กฎกระทรวงฯ สำหรับคนพิการ พร้อมดันงบสนับสนุนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการให้คูปองดิจิทัล

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  เป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์ต่อ (ร่าง) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. …. โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวรายงาน ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) หรือ DPU เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 150 คน ณ ห้องวายุภักษ์ 2 ชั้น 4  โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของ สดช. ที่สนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ องค์ความรู้และบริการ ผ่านเว็บไซต์ และช่องทางออนไลน์ต่างๆ ง่ายขึ้น ดังนั้น สดช. จึงหาแนวทางให้กลุ่มคนพิการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็นและร่วมผลักดัน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ สำหรับคนพิการให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามการทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะทำให้เกิดความเสมอภาคในสังคม ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 2-3 ล้านคน หากคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐที่กำลังปรับเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลได้ จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เช่น สามารถทำการค้าขายหรือสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของระบบราชการได้

“สดช. มีภาระหน้าที่ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยตั้งใจทำงานให้ครบทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบต้นน้ำ สนับสนุนหน่วยงานราชการให้มีเว็บไซต์กับแอปพลิเคชันสำหรับคนพิการเข้าถึงได้ด้วยเช่นเดียวกันกับคนทั่วไป ระบบกลางน้ำ คือการส่งต่อข้อมูลต่างๆ ไปยังคนพิการโดยทั่วถึง ระบบปลายน้ำคือคนพิการเอง ต้องมีเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า (ร่าง) กฎกระทรวงฯ นี้ถ้ามีผลบังคับใช้ คนพิการจะเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ และสามารถเข้ารับบริการของภาครัฐได้อย่างครบถ้วน” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า (ร่าง)กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้มีการรับฟังความคิดเห็นและระดมสมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ถึง ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำข้อมูลที่สำคัญไปสู่การปรับปรุง (ร่าง) กฎกระทรวงฯ  ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากนั้นจะนำไปเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้พิการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป โดยร่างกฎหมายเพื่อคนพิการฉบับใหม่จะสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) กฎกระทรวงฯ นี้ คือ การสนับสนุนคนพิการเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบคูปองดิจิทัล เพราะความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่าตรงกับความต้องการของผู้พิการ อีกทั้งการดำเนินการสามารถสอดรับกับการเชื่อมโยงกับระบบบัตรดิจิทัลของคนพิการ ที่ออกให้โดยกรมส่งเสริมผู้พิการ (พก.) ด้วย เบื้องต้น สดช. ตั้งเป้าสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนคูปองดิจิทัลให้คนพิการเพื่อจเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลตามความต้องการ โดยขั้นต่ำของคูปองดิจิทัลจะมีมูลค่า 5,000 บาทหรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาความจำเป็นของคนพิการและงบประมาณจากภาครัฐเป็นหลัก

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการนี้ความคืบหน้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยทีมงานของมหาวิทยาลัยเป็นการรวมตัวของคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ มีการบูรณาการศาสตร์ระหว่างสาขาอย่างครบถ้วนตรงกับโจทย์ที่ได้รับจาก สดช. จึงทำให้มีผลลัพธ์ออกมาที่ดี วันนี้จึงเหลือแต่เพียงการนำข้อเสนอแนะจากผู้ที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ไปปรับแก้ไขใน (ร่าง) กฎกระทรวงฯ เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น สำหรับข้อกังวลส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์มีอยู่ ประเด็นหลักๆ คือ 1.การทำให้กระบวนการมีความสะดวก โปร่งใส ทั่วถึง และตรงกับความต้องการของคนพิการ และ 2.การลดใช้เอกสารในการยื่นขอใช้สิทธิเพื่อลดภาระให้กับคนพิการ ดังนั้น (ร่าง) กฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจึงวางแนวทางให้คนพิการยื่นเรื่องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้ประสานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนคนพิการได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยประมวลผล เพื่อสร้างความโปร่งใส ความรวดเร็ว และลดขั้นตอนในการใช้เอกสาร ส่วนรูปแบบการสนับสนุนคนพิการเพื่อนำไปจัดซื้อหรือเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร ผลจากการรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่ดำเนินการมาหลายครั้ง ได้ข้อสรุปว่าการสนับสนุนด้วยคูปองดิจิทัลจะเหมาะสมและตรงความต้องการของคนพิการมากกว่ารูปแบบอื่น รวมทั้ง สดช. สามารถดำเนินการได้ด้วยกำลังคนที่มีอยู่ สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ตลอดกระบวนการ

นายประศม สุขแสวง ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสนับสนุนมาเป็นการให้คูปองดิจิทัล แต่อยากให้ลดการใช้เอกสารจำนวนมากเพื่อยื่นขอรับการสนับสนุน อาทิ ใบรับรองเงินเดือน หลักฐานการชำระภาษี และ statement  ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระด้านเอกสารให้ผู้พิการ จึงอยากให้ลดเพดานและการใช้เอกสารต่าง ๆ ในการพิจารณาลง แล้วหันมามองเหตุผล ความจำเป็นเร่งด่วน และการนำไปใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์ที่จะได้รับการสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหลักมากกว่า เนื่องจากผู้พิการบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนทำงานและนักศึกษา มีความจำเป็นมากในการใช้อุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยี ส่วนปัญหาของการยื่นเอกสาร เห็นว่าการที่ สดช. จะประสานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ซึ่งมีข้อมูลพื้นฐานของคนพิการอยู่แล้ว มาประกอบการดำเนินการและพิจารณา จะทำให้ลดขั้นตอนต่างๆ ลงและทำงานได้รวดเร็วขึ้น เป็นที่ยอมรับของคนพิการโดยทั่วไป