“โรคเบาหวาน” เป็นโรคเรื้อรังที่พบมากถึงประมาณ 1 ใน 10 ของประชากรไทย เกิดจากภาวะขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรืออินซูลินทำงานได้ลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคถุงน้ำรังไข่ ผู้ที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน
หากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจะมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ หรือมีอาหารหอบและซึมลงจากเลือดเป็นกรด หากมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลาย โรคไตเรื้อรัง และจอประสาทตาเสื่อม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานทำได้โดย
- รับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม คือ ใน 1 มื้อ ประกอบด้วย ผัก 50% ข้าวแป้ง 25% และโปรตีนที่ไขมันต่ำ เช่น จากไข่ ไก่ ปลา นม 25%
- หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมและผลไม้หวานจัด
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และการใช้ยาที่มีองค์ประกอบของสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีข้อบ่งชี้
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไปและผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
โดย : พญ.ภัทรวรรณ โกมุทบุตร
อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว