บทความนี้ ผมเขียนเอาจากประสบการณ์ที่ซื้อแล้วขายมาหลายหลังเพราะความใจร้อน ขาดความรอบคอบ ไม่ว่าจะด้วยราคาถูก ทำเลดี หรือกระทั่งบ้านตัวอย่างเค้าทำไว้สวยมากๆๆๆ ทำให้วู่วาม บางครั้งเสียเงินจองให้เค้าไปเฉยๆ แล้วค่อยกลับมาคิดว่าไม่เหมาะกับตัวเอง (แบบนี้ก็เป็นมาแล้ว 555) และจากการพลาดแล้วพลาดอีกหลายครั้งจึงเกิดเป็นประสบการณ์ (ราคาแพงอยู่นะครับ^.^) ที่จะนำมาบอกเล่าให้ผู้ติดตาม mehome.in.th ได้ระวังความใจร้อนของตัวเองเอาไว้ เรามาดูแต่ละหัวข้อกันเลยครับ
(1) ทำเลที่ตั้งของโครงการ
เป็นเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนมักคาดไม่ถึง! ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านมักมีเหตุผลต่างๆ มากมายมาสนับสนุนการซื้อบ้านโครงการนั้น โครงการนี้ บ้างก็เพราะใกล้ญาติ ใกล้ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งซื้อเพราะราคาถูก เหตุผลข้อหลังนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนะครับ มาดูข้อพิจารณาที่ผมประสบมากับตัวเอง (พลาดมากับตัวเอง)
- มีรถโดยสารสาธารณะวิ่งตลอด หรือมีวิ่งถึงตอนค่ำ (อย่าคิดเข้าข้างตัวเองว่าเรามีรถยนต์ เป็นอันขาด)
- ถนนเข้าโครงการไม่แคบเกินไป (ตอนเช้าทุกคนออกไปทำงานพร้อมกันแล้วจะรู้สึก)
- จากถนนใหญ่เข้าถึงโครงการไม่ไกลเกินไป สามารถเดินเท้าได้ จะดีมาก (มีเหมือนกันแต่ราคาแพง)
- ระยะห่างจากตัวบ้านและเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดยมีข้อกำหนดของ กฟผ.ไว้ดังต่อไปนี้
(4.1) เขตเดินสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ดังนี้
(4.1.1) ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด อันอาจเป็นอันตรายแก่ระบบไฟฟ้า เช่น ห้ามนำวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรกล เช่น รถเครน รถยก รถตัก รถขุด เข้าใกล้สายไฟฟ้า แรงสูงอย่างน้อย 4.00 เมตร หรือ ห้ามเผาไร่อ้อย นาข้าว ป่าพง หรือ วัสดุอื่นใดในแนวเขตเดินสายไฟฟ้า
(4.1.2) ห้ามปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือ สิ่งปลูกสร้างอื่นทุกชนิด ในเขตเดินสายไฟฟ้า
(4.1.3) ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผล ในเขตเดินสายไฟฟ้า ดังนี้
(4.1.4) บริเวณพื้นที่ ที่ตั้งเสา และพื้นที่โดยรอบโคนเสา ภายในระยะห่างจากแนวขาเสา 4 เมตร ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผลทุกชนิด
(4.1.5) บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้านอกจากข้อ 3.1 ห้ามปลูกต้นไม้หรือพืชผล ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วมีความสูงเกินกว่า 3 เมตร
(4.1.6) บริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า ของสายส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 500,000 โวลต์ ห้ามปลูกอ้อย
5. การกระทำใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นดินบริเวณพื้นที่ในเขตเดินสายไฟฟ้า เช่น การปรับ สภาพพื้นดินในสูงขึ้น การขุดดินหรือขุดบ่อ การก่อสร้างถนน จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากกฟผ.ก่อน โรงเรือนหรือสิ่งอื่น ที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น ต้นไม้หรือพืชผล ที่ปลูกขึ้น โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่ได้รับอนุญาตจาก กฟผ. ให้ กฟผ. มีอำนาจรื้อถอน ทำลาย หรือตัดฟัน ตามควรแก่กรณีโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน
ข้อกำหนดความกว้างเขตเดินสายไฟฟ้า | ||
ขนาดสายส่งไฟฟ้า
69,000.โวลต์ 115,000.โวลต์ 230,000.โวลต์ 500,000.โวลต์ |
ระยะจากจุดกึ่งกลางเสาออกไปด้านละ
9 เมตร 12 – 25 เมตร 20 – 25 เมตร 35 – 40 เมตร |
รวมเขตเดินสายไฟฟ้า
18 เมตร 24 – 50 เมตร 40 – 50 เมตร 70 – 80 เมตร |
เสริมอีกนิดนะครับ สังเกตุที่ลูกถ้วยที่ห้อยรับสายไฟอยู่ หากลูกถ้วยมากก็แสดงว่าเป็นเสาที่มีขนาดสายส่งไฟฟ้ามาก กล่าวโดยสรุปก็คือขอห่างไว้ก่อนสัก 80 เมตร ก็จะดีนะครับ
(2) ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
สำหรับระบบสาธารณูปโภคนี่ เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ค่อยพิจารณาให้ถี่ถ้วน ดังต่อไปนี้ครับ
(2.1) มีน้ำประปาเชื่อมต่อเข้าโครงการแล้วพร้อมใช้ หากเป็นน้ำบาดาลขอให้ดูว่าการสร้างเสร็จมานานหรือยัง เพราะน้ำบาดาลจะทำให้พวกลูกยางกันซึมของสุขภัณท์ชำรุดกักน้ำไม่อยู่ได้
(2.2) มีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าไว้รองรับ (ขยายเขต) หากไม่มีให้พิจารณาจากจำนวนหลังคาเรือนของโครงการนั้นหากมีแค่ 20 – 30 หลังคาเรือนอาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าแต่ให้ดูเพิ่มเติมว่าด้านนอกโครงการมีหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ภายในระยะ 100 – 200 เมตรหรือไม่ หากไม่มีอะไรสักอย่างก็ไม่ควรพิจารณาซื้อ หรือเอาไว้เป็นตัวเลือกท้ายๆ (อย่าเพิ่งเชื่อว่าโครงการจะทำเรื่องติดตั้งให้ภายหลัง)
(2.3) แสงไฟส่องสว่างตลอดโครงการ
(2.4) ยืนดูที่ป้อมยาม ว่ามีการแลกบัตรเข้าออกหรือไม่
(2.5) ขนาดของท่อระบายน้ำในโครงการ ต้องไม่เล็กเกินไป
(3) ความปลอดภัยและความสงบสุขยามค่ำคืน
ไม่ว่าคุณจะซื้อบ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮ้าส์ ปัญหาใหญ่ก็คือเพื่อนบ้าน และสถานที่ๆ มักเป็นแหล่งชุมนุมของนักดื่ม
(3.1) แอบมาดูวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมโครงการตอนช่วงหัวค่ำว่าเขามีกิจวัตรอย่างไร เรารับได้หรือไม่
(3.2) หากบ้านที่คุณเล็งไว้อยู่ใกล้สวนสาธารณะ ก็ขอให้สำรวจดูด้วยว่ามีระบบแสงสว่างหรือมีเจ้าหน้าที่ รปภ คอยสอดส่องดูแลหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การเลือกโครงการที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยก็ช่วยให้เราอุ่นใจได้ในระดับนึง แต่เมื่อใดก็ตามที่โครงการขายบ้านหมด และถูกจัดตั้งเป็นนิติบุคคล อันนั้นก็ขึ้นกับความสมัครสมานสามัคคีของเพื่อนบ้านทั้งหลายแล้วล่ะครับ
(4) โครงสร้างและงานระบบ
(4.1) วัสดุที่ใช้ทำผนังบ้าน
(4.1.1) ผนังปูนอัดขึ้นรูป
ข้อดี ประกอบเป็นบ้านง่ายใช้เวลาน้อย มีความคงทนแข็งแรง ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี ไม่ซับน้ำมาก
ข้อเสีย เจาะแขวนของต้องทำด้วยความระวัง หรือหากจะติดตั้งต่อเติมจะไม่สามารถทำได้
(4.1.2) อิฐมวลเบา มีรูปทรงและขนาดเหมือนอิฐบล็อกต่างกันที่ส่วนผสม
ข้อดี เบา รับแรงได้ดี ถูก ทำให้ราคาบ้านก็ถูกตามมา
ข้อเสีย การดูดซับเสียงทำได้ไม่ดี หากเป็นบ้านเดียวก็ไม่เป็นไร แต่หากเป็นทาวน์เฮ้าส์แล้วล่ะก็ อย่าเผลอนินทาเพื่อนบ้านก็แล้วกันรับรองความลับไม่มีในโลกแน่ๆ
(4.1.3) อิฐมอญหรืออิฐแดง
ข้อดี กันเสียงได้ดีกว่าอิฐมวลเบา
ข้อเสีย ราคาสูงกว่าอิฐมวลเบา ทำให้ราคาบ้านสูงตามไปด้วย
จบเรื่องอิฐไว้เท่านี้ก่อนนะครับ คงไม่ต้องลงลึก เรารู้เฉพาะส่วนของผู้อยู่อาศัยก็พอ
(4.2) มีช่องใต้ฝ้า สำหรับซ่อมบำรุงท่อประปาและสายไฟฟ้า
(4.3) สำหรับทาวน์เฮ้าส์บริเวณใต้หลังคาควรมีการก่อผนังชนกับแนวของหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้เดินหากันได้
(4.4) บ้านที่ดีควรก่อสร้างบนดิน หากเป็นบ้านเดี่ยวก็มักจะเป็นเช่นนั้น แต่หากเป็นทาวน์เฮ้าส์ใต้บ้านมักเป็นน้ำ เนื่องจากโครงการต้องการลดต้นทุน จึงถมดินแค่ส่วนที่จอดรถเท่านั้น
(4.5) ควรมีจุดปลายสาย สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นเพิ่มเติมเช่นสายไฟเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องน้ำทุกห้อง
(4.6) ควรมีการเดินสายสัญญาณสำหรับเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมไว้ให้ โดยเฉพาะบ้านที่มีผนังเป็นคอนกรีต
ผมขอสรุปแบบนี้นะครับ ในที่เล่ามาทั้งหมด ผมจะให้น้ำหนักกับหัวข้อที่ 1 ถึง 3 เป็นอย่างมากเนื่องจากมันจะส่งผลกระทบและการดำรงชีวิตของเราโดยตรงเมื่อเข้าไปอยู่อาศัยจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องถนน และเพื่อนบ้านขอให้คิดหนักๆ นะครับ หากคุณไม่ซีเรียสว่าต้องเป็นบ้านมือหนึ่งเท่านั้น ผมขอแนะนำให้ลองพิจารณาเลือกดูบ้านมือสอง เพราะเราจะเห็นสภาพความเป็นอยู่จริงๆ ของชุมชนนั้นๆ ที่เราจะไปอยู่อาศัยด้วยนั่นเอง