สำหรับคนที่ซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือหนึ่งของโครงการบ้านจัดสรรค์ หลังจากที่เราตกลงปลงใจทำสัญญาซื้อขาย และทำเรื่องยื่นกู้เงินกับธนาคารผ่านเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ทางโครงการบ้านก็เร่งมือตกแต่ง เก็บงานให้เรียบร้อย แล้วก็โทรแจ้งเจ้าของบ้านให้มาตรวจสอบความเรียบร้อย
โดยจากประสบการณ์ตรวจบ้านก่อนโอนมาหลายหลัง เชื่อเถอะครับว่าครั้งแรกที่เรียกเราไปตรวจน่ะ ส่วนมากแล้วงานยังไม่เรียบร้อยหรอกครับ เว้นแต่ว่าผู้ซื้อไม่ได้ติดใจในรายละเอียดของโครงการเพราะต้องการนำช่างของตัวเองมาปรับใหม่อยู่แล้วอันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
เอาล่ะครับ ในตอนนี้ผู้เขียนจะขอแชร์ประสบการณ์และข้อที่ควรฉุกคิดในการตรวจบ้านก่อนโอน ว่าควรตรวจสอบรายละเอียด รวมทั้งส่วนประกอบใดบ้าง
อุปกรณ์ที่ควรนำไปด้วย
- ไฟฉาย
- บันได
- ไขควงเช็คไฟ
- เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นโคมไฟ พัดลม สำหรับตรวจสอบระบบไฟฟ้าของเต้ารับ
- ถุงพลาสติกบรรจุทราย ⅔ ของถุง
- ดินน้ำมัน
- สติกเกอร์สำหรับทำเป็นเครื่องให้ช่างรู้ว่าต้องแก้ไขจุดใดบ้าง
- สมุดบันทึก
- กล้องถ่ายรูป
แบ่งหมวดหมู่หลัก
(เป็นการแบ่งของผู้เขียนเองหากไม่ถูกหลักวิชาการต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้)
นอกตัวบ้านทั้งหมด
1) รั้วหน้าบ้านและเสา
– ดูความเรียบร้อยของสีรั้ว รอยเชื่อมเหล็กว่าแน่นสนิทดีหรือไม่
– ทดลองเปิดปิดรั้วไปมา หากเป็นรั้วเลื่อนการเลื่อนต้องไหลลื่น หากเป็นบ้านทาวเฮ้าส์ส่วนมากรั้วจะเป็นแบบพับให้ทดลองพับไปมาทั้งพับเข้าและพับออก ต้องไม่ฝืดหรือติดขัดจนต้องออกแรงดึงมาก
– ตรวจดูเสาที่ยึดรั้วว่ามีรอยปูนกระเทาะหรือแตกร้าว
2) ผนังรั้วรอบบ้าน
– ดูความเรียบร้อยของสี ไม่มีรอยแตกร้าว
– สำหรับบ้านหลังริมให้ตรวจดูกำแพงต้องตั้งฉากไม่เอนข้างใดข้างหนึ่ง หากเอนอย่าปล่อยผ่าน เพราะเมื่ออยู่ไปพื้นดินจะเริ่มทรุดตัวและอาจทำให้กำแพงล้มได้ ที่สำคัญการแจ้งให้มาแก้ไขภายหลังอาจใช้เวลานาน
3) พื้นที่จอดรถ
– พื้นเรียบเสมอตลอดแนว ราดเอียงออกนอกบ้านเล็กน้อย ให้ลองฉีดน้ำ น้ำต้องไม่ขัง
4) ฝาท่อระบายน้ำ
อย่าลืมสังเกตฝาท่อระบายน้ำหน้าบ้านด้วยว่าอยู่ในระดับที่น้ำสามารถไหลลงได้สะดวกหรือไม่ เพราะปัญหาไม่ได้เพียงแค่น้ำไหลลงท่อไม่สะดวก แต่อาจก่อให้เกิดวิวาทะระหว่างเพื่อนบ้านได้ เพราะหากท่านล้างรถ หรือล้างหน้าบ้าน น้ำที่ไหลลงท่อไม่สะดวก จะไหลย้อนไปหน้าบ้านเพื่อนบ้านแทน จริงอยู่ว่าฝาท่อหน้าบ้านอาจไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเราแต่ก็เป็นหน้าที่ของโครงการจัดสรรที่ต้องดูแล
5) ดินรอบบริเวณบ้าน (ถ้ามีอยู่ในแบบและข้อตกลง)
หาท่อนไม้กระแทกรอบๆ บริเวณว่าดินแน่นดีหรือไม่หรือลองกระโดดเหยียบดูก็ได้ หากมีอุปกรณ์การขุดไปด้วยก็จะดีมาก ให้สุ่มขุดหลายๆ จุด เพราะเชื่อเถอะครับว่าพวกเศษปูนหรือเศษวัสดุก่อสร้างมันจะถูกหมกอยู่ใด้ดินบ้านเรานี่แหละ อ๊ะๆ อย่าปล่อยผ่านนะครับ เพราะวัสดุพวกนี้มันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับการปลูกต้นไม้ของคุณ
6) ก๊อกน้ำสนามหรือก๊อกนอกบ้าน
ทดลองเปิดปิดหลายๆ ครั้ง เพื่อทดสอบการรั่วซึม และความแข็งแรง
7) บ่อพักน้ำรอบบ้าน (สำหรับบ้านเดี่ยว)
– ดูความเรียบร้อยของปากบ่อและฝาปิดสนิทหรือไม่
– มีเศษวัสดุในท่อหรือไม่
– เทน้ำลงอ่างล้างหน้าในบ้าน สังเกตน้ำที่ไหลผ่านบ่อพักว่าน้ำไหลผ่านได้สะดวกหรือไม่
ส่วนของตัวบ้าน
1) ประตูและหน้าต่าง
ทดลองเปิดปิดต้องไม่ติดขัด และการล็อกหรือลงกลอนต้องทำได้โดยสะดวก ไม่ฝืด
2) มุ้งลวด เหล็กดัด (ถ้ามี)
– เหล็กดัดให้ลองเขย่าดูความแข็งแรงของการเชื่อมและติดตั้ง
– มุ้งลวดมีตาสม่ำเสมอตาไม่ถ่างเกินไป
3) พื้นบ้าน(โครงการสมัยนี้ส่วนมากนิยมใช้แกรนิโต้)
– ตรวจสอบความแน่นของแผ่นพื้นโดยใช้ไม้ หรือด้ามไม้กวาดไล่เคาะตามแผ่นพื้นทุกแผ่น โดยฟังเสียงว่าแน่นดีหรือไม่ หากดังโป๊กๆ หรือปุ็กๆ แสดงว่าใต้แผ่นนั้นกลวงหรือปูนไม่เต็มแผ่น
– แผ่นพื้นทุกแผ่นควรเรียบเสมอเป็นระนาบเดียวกัน
– ร่องหรือรอยต่อแผ่นพื้นต้องยาแนวไม่เลอะเทอะเปอะแผ่นพื้น
4) ผนัง
– ผนังต้องเรียบฉาบสวยเป็นระนาบเดียวกันทั้งผืน ไม่เป็นเนินหรือแอ่ง
– สีผนังเรียบ ไม่เป็นฟองอากาศ
– วอลเปเปอร์ต้องเรียบไม่ย่น ไม่มีคราบกาว
– สำหรับทาวน์เฮ้าส์ผนังชั้นบนควรก่อให้ให้ชดกับหลังคา เพื่อกันไม่ให้เดินถึงกันได้
5) บันได
– ดูความเรียบร้อยของสีทาบันได
– ลองโยกราวบันไดว่าแข็งแรงดีหรือไม่
6) ฝ้าเพดาน
– ฝ้ายิปซั่ม ต้องเรียบเป็นระนาบเดียวกันทั้งผืน มีสีเรียบเนียนเสมอกันทั่ว
– ฝ้าแบบทีบาร์ (ฝ้าแขวน) ต้องแขวนได้ระดับไม่แอ่นในบางช่วง งานขอบอะลูมิเนียมเรียบชิดกับผนังไม่บิดงอไปมา
7) แสงสว่าง
– เปิดไฟในบ้านทุกดวงแสงสว่างจากหลอดต้องสว่าง แสงไม่อมสีเหลือง
– ไฟหน้าบ้านและไฟรั้ว หรือไฟหัวเสาติดสว่าง
– หากเป็นชุดหลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่นเก่า จะต้องเงียบไม่มีเสียงบัลลาสต์ครางหึ่งๆ
– ฐานของโคมหลอดต้องแนบสนิทกับฝ้าเพดาน (อาจต้องใช้บันไดปีนดู)
8) กริ่งประตู
– กดแล้วดัง หากดังบ้างไม่ดังบ้านแสดงว่าหน้าสัมผัสสวิตช์กริ่งสกปรกมาก หรืออาจมีแมลงเข้าไป
9) เต้ารับ
– ใช้ไขควงเช็คไฟ จิ้มเข้าไปในรูทั้งสองรู จะต้องมีไฟเพียงรูเดียวเท่านั้น หากรูแรกมีไฟส่วนอีกรูมีไฟหรี่ๆ แสดงว่าจุดจั๊มสายนิวตรอนอาจหลวม
– งัดหน้ากากเต้ารับออกดู สายไฟที่ใช้ต้องเป็นเบอร์ 2.5
10) เซอร์กิตเบรกเกอร์ หรือคัตเอาต์ หรือสะพานไฟ สุดแท้แต่จะเรียก
– ใช้ไขควงขันสกรูเปิดดูการเก็บสายภายในตู้ว่าเรียบร้อยดีหรือไม่
– ตรวจสอบการควบคุมของเซอร์กิตเบรกเกอร์แต่ละตัว โดยเปิดไฟแสงสว่างให้ครบ เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เตรียมไปเช่นพัดลม โคมไฟ ปลั๊กพ่วงที่มีหลอดไฟแสดงสถานะ จากนั้นเอาเบรกเกอร์ลงทีละตัว แล้วดูว่าจุดที่ควบคุมแบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจนหรือไม่ เช่นหากเอาเบรกเกอร์ลงแล้วแสงสว่างดับก็ต้องดับเป็นโซน หากเป็นบ้านหลังเล็กอาจดับทั้งชั้นก็ได้ แต่หากดับชั้นล่างบ้าง ชั้นบนบ้าง ต้องแก้ไข ส่วนเต้ารับก็เช่นกัน
11) จุดต่อโทรศัพท์บ้านและสายสัญญาณโทรทัศน์ (มีในบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์รุ่นใหม่)
– ใช้เครื่องโทรศัพท์รุ่นที่ใส่แบตเตอรี่ในตัว 2 เครื่อง เสียบสายคนละจุด ลองยกหูคุยกัน เสียงที่ได้ยินต้องชัดเจนไม่ขาดหาย
– ลองถอดๆ เสียบๆ หลายๆ ครั้งเพื่อทดสอบความแข็งแรงและคุณภาพของเต้ารับโทรศัพท์
– สายสัญญาณโทรทัศน์ไม่ควรอยู่ภายในบล็อกเดียวกับเต้ารับไฟฟ้า เพราะอาจทำให้เกิดสัญญาณรบกวนโทรทัศน์ได้
12) ห้องน้ำ
– ดูความเรียบร้อยของช่องเซอร์วิสบนฝ้าเพดาน
– บริเวณอาบน้ำของห้องน้ำชั้นบนให้นำถุงพลาสติกใส่ทรายวางปิดช่องท่อน้ำทิ้งแล้วขังน้ำไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อดูว่ามีน้ำรั่วซึมจากพื้นห้องน้ำลงไปด้านล่างหรือไม่ (หากน้ำซึมอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะรั่วลงมาบนฝ้าของชั้นล่าง
– อ่างล้างมือให้เปิดน้ำจนเต็มอ่าง แล้วจึงปล่อยน้ำทิ้งเพื่อดูว่ามีน้ำรั่วซึมตารมบริเวณข้อต่อท่อน้ำทิ้งหรือไม่
– สังเกตุที่ฐานชักโครก รูที่ฐานทั้งสองด้านต้องถูกปิดไว้ หากเปิดอยู่ให้ช่างปิดซะ หากไม่มีช่างอยู่ในที่นั้นให้ใช้ดินน้ำมันแปะทับรูไว้ชั่วคราว จากนั้นฉีกขนมปังใส่ลงไปในชักโครก แล้วกดชักโครกดูว่าน้ำไหลลงได้ดีหรือไม่ หากไหลลงแบบไม่เต็มใจเท่าไหร่ นี่อาจเป็นเพราะท่อระบายอากาศมีปัญหา ให้แจ้งโครงการโดยระบุด้วยว่าห้ามแก้ด้วยวิธีเปิดรูที่ฐานชักโครก (เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรไปเพิ่มหรือแก้ไขในส่วนท่อระบายอากาศ)
– ตรวจดูตามข้อต่อท่อน้ำต่างๆ รวมทั้งสายฝักบัว และสายชำระด้วย
– เปิดน้ำฝักบัวและสายชำระดูว่าน้ำกระจายเป็นฝอยดีหรือไม่
สุดท้าย
สำหรับทุกจุดที่มีการแก้ไขควรนำสติ๊กเกอร์ที่เตรียมไปติดเอาไว้ ช่างที่มาเก็บงานจะได้ไม่หลงลืม