ปิดฉากสวยงามกับงานสัมมนาเพื่อคนวงการอสังหาฯ ASA Real Estate Forum 2019 ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Smart & Innovative Cities for all” เมืองอัจฉริยะ เมืองนวัตกรรม เมืองเพื่อทุกคน ที่ทางสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้น โดยงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากบุคคลทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานเปิดงานและ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาร่วมปาฐกถาพิเศษของการพัฒนาเมืองสู่ Smart & & Innovative Cities
โดยภายในงาน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเป็นเป็นประธานเปิดงานและบรรยายพิเศษในหัวข้อ Thailand: Country of Opportunities & Equality โดยกล่าวถึง ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างซบเซา จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ ฉะนั้นไทยจะอยู่รอดได้ คือ การสร้างเมกะโปรเจกต์ และการมีพันธมิตร จะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมองว่า ในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เป็นช่วงของการลงทุนเมกะโปรเจกต์ ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ดี ขยายผลสู่การลงทุน การท่องเที่ยว และการส่งออกสิ
นค้าระหว่างประเทศ โดยเมกะโปรเจกต์ที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียมได้ คือ โครงการอีอีซี ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยปัจจุบันอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกิดความเปลี่ยนแปลงของ Disruptive technology ที่ต้องต่อยอดจากแผนพัฒนาเดิม สู่เป้าหมายอีอีซีใหม่ ด้วยการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรม ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การศึกษา เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการบิน เพื่อหลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศแห่งการพัฒนา
ปัจจุบันอีอีซีมีกฎหมายชัดเจนในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ฉะเชิงเทราเป็นชุมชนเมืองใหม่ , แหลมฉบัง – ศรีราชา เป็นอุตสาหกรรมใหม่ , ระยองเป็นปิโตเคมี พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีการกำหนดผังเมืองเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามในสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูง 220 กม. กรุงเทพฯ – ระยอง รวมถึงแผนการพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่ง คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และการสร้างสนามบินอู่ตะเภา หากโครงการดังกล่าวสำเร็จตามแผน จะสามารถรองรับกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นได้มากถึง 145 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการพัฒนาเมืองในหลายพื้นที่ อย่างชุมชนเมืองใหม่ที่มีพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นโอกาสของโครงการอีอีซีที่จะช่วยดึงดูดคนเข้ามาลงทุน และเกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพได้อย่างมหาศาล
ทั้งนี้ประเทศไทยจึงต้องสร้างรากฐานให้มั่นคงด้วยการใช้จุดแข็ง ทั้ง 2 ด้าน คือด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดเป็นมูลค่าทางอุตสาหกรรม จากเกษตรกรไปสู่การเป็น Smart Farmer และใช้ประโยชน์จาก Disruptive technology เข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่เมืองรอง พร้อมทั้งการเปิดใช้ 5G ในอนาคตอันใกล้ จะเข้ามาอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร การรับข้อมูล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้คนชนบท สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี
นอกจากนี้นายสุวัจน์ ยังกล่าวเสริมว่า สถาปนิกไทยต้องให้ความสำคัญกับ Universal Design เพราะในอนาคตสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ฉะนั้นรูปแบบของโครงสร้างเมือง การออกแบบอารยะสถาปัตย์ต้องคำนึงถึงการใช้งานของทุก ๆ คน และสร้างความเท่าเทียมต่อการดำรงชีวิตให้กับประชากรทุกกลุ่ม
ในด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย อนาคตเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน” โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี เป็นการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้งระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ต้องมีการปรับให้เข้ากับสภาวะความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือโครงสร้างประชากร ที่กำลังไปสู่สังคมผู้สูงวัย และประชากรกลุ่มสังคมเมืองที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
1. เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์กับความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในด้านของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
2. การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงใช้ในด้านของบริการสาธารณะ อาทิ ระบบขนส่งมวลชน บริการด้านการสื่อสาร และบริการจากสาธารณสุข
3. การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการของภาครัฐ
การสร้างเมืองอัจฉริยะ เมืองนวัตกรรม เมืองเพื่อทุกคน จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างถูกวิธี ซึ่งปัจจัยสำคัญของการผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะ 2 ปัจจัย คือ การจัดการข้อมูล Big data ที่เป็นหัวใจสำคัญ มาช่วยวางกรอบและกฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมือง พร้อมทั้งคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ และปัจจัยที่สอง คือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ชุมชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องเป็นผู้กำหนดข้อปฏิบัติในการใช้ข้อมูล พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ