CAT ร่วมมือ MEA ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม สู่การพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและ 5G

CAT ร่วมมือ MEA ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม สู่การพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและ 5G

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEAร่วมกับ พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ลงนามในบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ณ ห้องประชุม 808 ชั้น 8 อาคารสำนักงานใหญ่ CAT ถนนแจ้งวัฒนะ

MEA และ CAT ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ โดยจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปให้ผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และประกอบกิจการอื่นในพื้นที่เขตความรับผิดชอบของ MEA ซึ่งนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจและก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศ ช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาคุณภาพบริการได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้บริการได้ในอนาคต

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่มีศักยภาพในด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่เมืองมหานครของประเทศไทย และมีความพร้อมตอบสนองนโยบายภาครัฐ ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะให้สามารถรองรับต่อการเติบโตของเมืองในอนาคต ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด โดย MEA พร้อมสนับสนุนข้อมูลด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้า ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์บนเสาไฟฟ้า และระบบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อใช้ประกอบการจัดทำผลการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมระบบการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนในอนาคต

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน CAT มีเสาโทรคมนาคมกว่า 20,000 ต้นที่พร้อมสำหรับให้ผู้ประกอบการได้ใช้งาน ความร่วมมือในครั้งนี้จึงช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและ 5G ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากความร่วมมือกับ MEA แล้ว CAT ยังจะร่วมกับพันธมิตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมเพื่อลดภาระการลงทุน และสร้างรายได้เพิ่มจากการให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนของเสาโทรคมนาคมและไฟเบอร์ (Passive Infrastructure Sharing) รวมถึงร่วมกับพันธมิตรธุรกิจหรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น เพื่อให้การลงทุนจัดให้มีบริการ 4G/5G เกิดประสิทธิภาพและประหยัดสูงสุด”