ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา (DEET) หน่วยงานภายใต้ บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ร่วมงานทำสัญญาบรรจุผู้เช่าในโครงการ “บ้านเคหะสุขประชา” พร้อมแจงรายละเอียดการดูแลผู้อยู่อาศัยให้เกิดการพัฒนา มีอาชีพ มีรายได้ สร้างทักษะความรู้ 6 รูปแบบอาชีพ การบริหารจัดการเงินและต้นทุนให้มีเงินออมไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน พร้อมยกระดับรายได้ด้วยหลักสูตรที่หลากหลาย พัฒนากลุ่มเปราะบางให้มีรายได้เกิน 40,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน
ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์ ประธานเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากพันธกิจสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้ว เคหะสุขประชายังมีพันธกิจ ‘สร้างอาชีพ’ ภายใต้ ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา หรือ Department of Economic Employment and Training (DEET) ในการดูแลสนับสนุนให้ผู้เช่าเกิดการพัฒนา มีอาชีพ มีรายได้ ที่ยั่งยืน
“จากภาวะเศรษฐกิจ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราตระหนักว่าหากคนมีองค์ความรู้ด้านเดียว-ไม่หลากหลาย จะสร้างผลลัพธ์คือขาดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ DEET จึงมีแผนงานเริ่มที่การพัฒนา (Training) โดยมีการจัดฝึกอบรมด้านวิชาชีพให้คนกลุ่มเปราะบาง และองค์ความรู้ เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จนนำมาซึ่งการจ้างงานในชุมชน (Employment) และสุดท้ายชุมชนนั้น ก็จะเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Economic) ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
ทั้งนี้ ภายในศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา ยังมีหน่วยงานย่อยที่ดูแลรับผิดชอบด้านการสร้างความรู้และอาชีพอย่างชัดเจน ประกอบด้วย ฝ่ายอบรมพัฒนาอาชีพ, ฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ชุมชน และฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดจะทำงานสอดประสานกันพัฒนารูปแบบของอาชีพในโครงการ รวมถึงวางแผนงานกระจายสินค้าทั้งครอบคลุมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำจากทั้ง 6 รูปแบบ คือ เกษตรอินทรีย์, ปศุสัตว์, ตลาด, อุตสาหกรรมขนาดเล็ก, ศูนย์การค้าปลีก ค้าส่ง และบริการในชุมชน
ดร.ตวงอัฐ ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานย่อยทั้งสามจะมีการทำงานที่ชัดเจน เพื่อนำโครงการบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ฝ่ายอบรมพัฒนาอาชีพจะรับผิดชอบพัฒนาทักษะความรู้ของคน จากนั้นฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะบริหารจัดการซัพพลายเชน โยง 6 อาชีพให้คลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือกลุ่มเกษตรอินทรีย์และปศุสัตว์ จะสร้างผลผลิตที่ได้คุณภาพออกมา ส่งให้ด้านของตลาดและศูนย์การค้าปลีก-ส่ง จัดจำหน่ายเป็นปลายน้ำ หรืออาจนำไปแปรรูปเบื้องต้นโดยอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น และมีอาชีพบริการมาสอดแทรกเป็นทางเลือกอื่น ๆ อีกด้วย
โครงการเคหะสุขประชา จะได้รับการประเมินพื้นที่และภูมิสังคมโดยศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา เพื่อนำเอาอาชีพทั้ง 6 รูปแบบไปจัดวางให้เกิดความเหมาะสม เช่น โครงการเคหะสุขประชา ร่มเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องการเข้าอยู่อาศัย และเป็นพื้นที่ติดชุมชนลาดกระบัง มีขนาดใหญ่กว่า 6 ไร่ ได้ถูกจัดสรรอาชีพด้านศูนย์การค้าปลีก ค้าส่ง หรือ Mini Mall และมีพันธมิตรห้างร้านต่าง ๆ เข้ามา พร้อมทำข้อตกลงด้านจ้างงานคนในโครงการ และทำให้พื้นที่ร่มเกล้ามีศูนย์การค้าที่รองรับการใช้จ่ายทั้งจากคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง
“นอกจากด้านวิชาชีพแล้ว DEET ยังทำหน้าที่สอนเรื่องการบริหารจัดการเงินและต้นทุนด้วย สิ่งสำคัญคือเรามุ่งหวังให้ผู้มาอยู่และประกอบอาชีพในโครงการสามารถบริหารรายรับรายจ่ายในครัวเรือนได้ รู้วิธีจัดการหนี้และไม่สร้างหนี้เพิ่ม และอาจรวมไปถึงสามารถวางแผนกลยุทธ์การทำธุรกิจได้ด้วยตัวเอง เพราะดัชนีชี้วัดหลักของ DEET และเคหะสุขประชา คือการตั้งเป้าให้ผู้อยู่อาศัยมีเงินออมไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ในแต่ละเดือน” ดร.ตวงอัฐ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยในโครงการ ต้องเข้ารับการฝึกอบรมอย่างน้อย 4 หลักสูตรต่อคน ประกอบด้วย วิชาชีพและวิชาเลือกที่ต้องการ รวมถึงวิชาบริหารจัดการต้นทุนและหนี้ และหลักสูตร E-Payment เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา มีฐานข้อมูลในการประเมินและคัดสรร พร้อมแบ่งสัดส่วนของอาชีพรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยผู้อยู่อาศัยมีรายได้จากการทำอาชีพอยู่ 2 โมเดล คือรายได้จากการได้รับจ้างงาน โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้จ้าง และรายได้จากการเป็นผู้ประกอบการเอง
“หากผู้อยู่อาศัยมีการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หรือมีการบริหารจัดการเงินได้เป็นอย่างดี ก็สามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการเองได้ แต่ก็ต้องเสียค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามกติกาทุกอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความตั้งใจรับผิดชอบหน้าที่และอาชีพของตัวเองเป็นอย่างดีด้วย เพราะเคหะสุขประชาจะมีการประเมินเป็นประจำ รวมถึงมีการสอดส่องไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด การพนัน หรือการทุจริตทุกรูปแบบ ซึ่งเราจำเป็นต้องตัดสิทธิการเช่าของผู้อยู่อาศัยหากเกิดปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน
“ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา ภายใต้ บมจ. เคหะสุขประชา เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนพันธกิจภาพใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ ในการสร้างบ้าน สร้างอาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืนกับกลุ่มเปราะบาง เพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนให้เกิน 40,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามคติ สร้างบ้านสร้างเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตสุขประชา” ดร.ตวงอัฐ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวและข่าวสารเพิ่มเติมของ เคหะสุขประชา ได้ที่ www.kha.co.th หรือ www.facebook.com/KHA.Sukpracha