กรุงเทพมหานครฯ – บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และปัจจุบันเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่าง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ที่มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษา บุคลากร และคณาจารย์ของสถาบันฯ ให้ได้รับความสะดวกสบายจากการโดยสารรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มากขึ้น อาทิ การพัฒนาจุดจอดรถโดยสารไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากร เพื่อเป็นการสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะเชิงรุก และยังมีการส่งเสริมการจัดกิจกรรมของนักศึกษาในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์จาก บริษัท เอเชีย เอรา วัน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการแลกเปลี่ยนความรู้ทางนวัตกรรม ด้านการพัฒนาระบบราง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด กล่าวว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้กำหนดทิศทางธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มุ่งยกระดับการดำเนินงานที่พร้อมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตแห่งความยั่งยืน เอเชีย เอรา วัน ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน จึงได้กําหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ ผ่านความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
“ความร่วมมือฉบับนี้ จึงถือเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินธุรกิจของเรา ซึ่งควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาจุดจอดรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเดินทางไป-กลับระหว่างรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์และสถาบันฯ นับเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่เราได้ร่วมมือกับ สจล. ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันฯ โดยได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะส่งผลสำคัญต่อการลดมลพิษทางอากาศ ด้วยความมุ่งมั่นในการให้บริการที่เป็นเลิศและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดี ตลอดจนสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า เราจึงได้กำหนดกรอบข้อตกลงในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์จากบริษัทฯ ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในสจล. รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมของนักศึกษาในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์อีกด้วย” นายสฤษดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า “สจล. ตระหนักดีถึงปัญหาของเมืองและการพัฒนาก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city จึงเร่งศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนการเชื่อมต่อการเดินทางอย่างไร้รอยต่ออย่างยั่งยืน หนึ่งในกรอบข้อตกลงสำคัญภายใต้ MOU ฉบับนี้ คือความร่วมมือในการสนับสนุนให้โครงการการพัฒนาจุดจอดรถโดยสารไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่บุคลากร สจล. ประสบความสำเร็จ อันจะนำไปสู่การลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายการบริหารงานของ สจล. ในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมให้สอดรับกับการเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต”
“บริษัท เอเชีย เอรา วัน เป็นบริษัทที่มีความพร้อม มีประสบการณ์ในการให้บริการการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางที่ทันสมัย การลงนามในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ทั้งในด้านการให้บริการ เพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพทางการศึกษา วิจัย พัฒนาบุคลากร นักศึกษา และสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานของโลกยุคใหม่ รวมทั้งยังมีความมุ่งหวังที่จะขยายโอกาสดังกล่าวไปสู่ชุมชนและสังคมรอบข้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน” รศ.ดร.คมสัน กล่าวเพิ่มเติม
เอเชีย เอรา วัน และ สจล. เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การริเริ่มและต่อยอดโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ทั้งสององค์กร และยังเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนคำนึงถึงคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
เกี่ยวกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด
บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด) เป็นบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) รายแรก ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย ให้พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยมีระยะเวลาสัญญา 50 ปี มีมูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี