CADT DPU เปิดพื้นที่ระดมสมองดึงกูรูร่วมถกทิศทางอนาคตโดรน ชี้ กม.ใหม่บินโดรนต้องมีใบขับขี่

CADT DPU เปิดพื้นที่ระดมสมองดึงกูรูร่วมถกทิศทางอนาคตโดรน ชี้ กม.ใหม่บินโดรนต้องมีใบขับขี่

วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CADT DPU)  ร่วมกับ ชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย  จัดสัมมนาเรื่อง อากาศยานไร้คนขับ (Drone) กับทิศทางการกำกับดูแลของไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมี ดร.ดาริกา  ลัทธพิพัฒน์  อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ น..ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ. กล่าวต้อนรับ โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมถ่ายทอดความรู้ ประกอบด้วย นาวาอากาศเอกทรงศักดิ์ ธรรมสาร นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำเสนาธิการทหารอากาศ นายสมชาย พิพุธวัฒน์ ประธานชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินประเทศไทย นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล รักษาการผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  และนายจรรยวรรธน์  ชาติอนุลักษณ์ นายกสมาคมโดรนชอคเกอร์ประเทศไทย โดยมี น..ดร.วีรชน นรานุต เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

..ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ. กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร   และส่งเสริมความร่วมมือด้านอากาศยานไร้คนขับ Drone ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ขยายไปในวงกว้างมากขึ้นเพื่อนำไปวางแผนและศึกษาต่อรวมถึงการกำหนดทิศทางการกำกับดูแลการใช้โดรนในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้เกิดการต่อยอดการนำโดรนมาใช้อย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

กองทัพกับการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ

นาวาอากาศเอกทรงศักดิ์ ธรรมสาร นายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำเสนาธิการทหารอากาศ กล่าวถึง ความเป็นมาและการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ว่า ส่วนของกองทัพอากาศ อากาศยานไร้คนขับ ทางทหารเรียกว่า  UAV (Unmanned Aerial Vehicle)   ซึ่งบทบาททางทหาร UAV ที่ใช้ในกองทัพจะเข้ามาทดแทนการทำงานของทหาร โดยการบินต่อไปจะไม่ใช้ทหารในการขึ้นบินแต่จะคอยควบคุมแทน เช่น เครื่องบินรบ หรือ เครื่องบินขับไล่   ทั้งนี้ บทบาทอากาศยานไร้คนขับทางการทหารและความมั่นคง  โดยภารกิจทางด้านการทหาร มีการบินลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ  การบินโจมตีทางอากาศ  การบินสนับสนุนการรบ  และการสนับสนุนเหล่าทัพ/หน่วยงานด้านความมั่นคง  นอกจากนี้ยังใช้ในภารกิจทางลับ ภารกิจปนเปื้อนสิ่งสกปรก หรือ ภารกิจที่เป็นอันตราย  การบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ  ปัจจุบัน กองทัพอากาศ ได้ตั้งกองบินขึ้นใหม่ ที่จ.สระแก้ว โดยเป็นกองบินที่เป็นอากาศยานไร้คนขับโดยเฉพาะ

สำหรับผลกระทบจากการบินที่ผิดกฎหมายของอากาศยานไร้คนขับ ได้แก่ การบินถ่ายภาพบริเวณสนามบิน/ ที่ตั้งทางทหาร หรือ พื้นที่ที่หวงห้ามทางราชการ การโจมตีเป้าหมายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ส่วนผลกระทบด้านความปลอดภัย ได้แก่ การบินรบกวนวงจรการบิน  และชนกับอากาศยานบริเวณสนามบินและแนวร่อน หรือการชนกับอากาศยานที่บินในห้วงอากาศ  การบินละเมิดสิทธิพื้นที่ส่วนบุคคล  คลื่นสัญญาณควบคุมอากาศยานไร้คนขับผิดกฎหมายรบกวนสัญญาณคลื่นความถี่สื่อสาร

อนาคตเทคโนโลยี Drone

นายจรรยวรรธน์  ชาติอนุลักษณ์ นายกสมาคมโดรนชอคเกอร์ประเทศไทย กล่าวถึง อนาคตอากาศยานไร้คนขับ(Drone) กับเทคโนโลยีที่กำลังปฏิวัติโลก ว่า  ปัจจุบันเทคโนโลยี AI  เข้ามามีบทบาทต่ออนาคตอากาศยานไร้คนขับ(Drone) มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  เช่น ปัจจุบันถ้าต้องการภาพถ่ายมุมสูงที่ต้องใช้โดรน ไม่ต้องถ่ายเองแล้วเพราะมีซอฟแวร์ ฟุตเทจภาพมุมสูงอย่างที่เราต้องการมาให้เราใช้ได้โดยไม่ต้องบินโดรน เพราะการบินโดรนในบางพื้นที่ต้องขออนุญาต และการบินแต่ละครั้งต้องขออนุญาตหลายหน่วยงานกว่าจะบินได้ มีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย จึงมีคนนำภาพมุมสูงมาขาย ซึ่งมีราคาขายอย่างน้อย 3,000-5,000 บาท ปัจจุบันราคาถึงหลักหมื่นบาท   เป็นต้น 

ส่วนโดรนใต้น้ำ  เดิมในอดีตการบินโดรนใต้นำค่อนข้างยาก เพราะต้องเชื่อมต่อสายเคเบิ้ลใต้น้ำ  แต่วันนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก เราสามารถส่งสัญญาณแบบไร้สายได้ ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ต้องเชื่อมสายเหมือนในอดีตที่อาจเกิดสายพันกันใต้น้ำได้ และอีกเทคโนโลยีที่มาจากอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนอีกอย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาด้านการขนส่งโดยใช้โดรน  ซึ่งที่ดูไบสามารถใช้อากาศยานไร้คนขับบินในแนวดิ่ง ให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองใกล้กันได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คนเล่นโดรนกังวลกับการนำโดรนลงมาชาร์จ แต่วันนี้ เทคโนโลยี AI ช่วยทำให้การใช้โดรนไม่ต้องใช้คนมาคอยบังคับ หรือกังวลเรื่องที่ชาร์จ เพราะAI สามารถบังคับโดรนให้สามารถบินขึ้นลงตามเวลา และพิกัดตามที่กำหนด ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ ก็สามารถบังคับโดรนที่อยู่มุมไหนของโลกก็ได้  เพียงแค่มีสัญญาณโทรศัพท์ 4G 5G  เพียงแต่ต้องมีกฎหมายมาควบคุมให้ชัดเจน  เพื่อไม่ให้นำโดรนไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง  และอนาคตของโดรนอีกอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ทำให้เทรนด์ของโดรนเปลี่ยนแปลงไปคนที่อยู่ในวงการต้องปรับตัวและเปลี่ยนตามให้ทัน

แนวทางการกำกับดูแล

นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล รักษาการผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  กล่าวถึง แนวทางการกำกับดูแลการใช้งานอากาศยานไร้คนขับ (Drone)ในประเทศไทย ว่า เนื่องจากการใช้อากาศยานไร้คนขับ ต้องอยู่ร่วมกับอากาศยานที่มีคนขับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบตัวกฎหมายในปัจจุบัน มาตรฐานอากาศยานจริงในห้วงอากาศมีเท่าเดิม เรื่องความปลอดภัยหากมีการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลาย ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางเสียง  และเทคโนโลยีที่นำมาใช้มีความปลอดภัยขนาดไหน 

ภาพรวมการใช้อากาศยานไร้คนขับ มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนมากถึง  70,978 ลำ เพิ่มขึ้นทุกปีในปี 2018 มีขึ้นทะเบียน 4,000 ลำต่อปี  ปัจจุบันโดรนมาขึ้นทะเบียนถึง 20,000 ลำต่อปี  ส่วนใหญ่เป็นโดรนขนาดน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ใช้เพื่อถ่ายรูป งานอดิเรก เพื่อการศึกษา  ที่เหลือใช้ด้านการเกษตร ประมาณ 10% น้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ในส่วนของคนบังคับโดรนปัจจุบัน มีการขึ้นทะเบียน 13,000 คน  ส่วนในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ขึ้นทะเบียนโดรนทั้งหมดกว่า 800,000 ลำ ส่วนนักบินประมาณ  2 แสนกว่าคน  และเป็นโดรนที่ใช้เพื่อธุรกิจ มากถึง 320,000 ลำ  ดังนั้น จึงมีความต้องการแรงงานด้านนี้สูง โดยทำงานอยู่ในกิจการผู้ให้บริการทางด้านนี้ 

สำหรับการกำกับดูแลอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ใช้มาตรฐานเดียวกัน ทั่วโลก คือ พิจารณาจาก 3 ประเภทหลัก  คือ 1.) ความเสี่ยงต่ำ กลุ่มบันเทิง   2.) เสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจ  และ 3.) ความเสี่ยงสูง เป็นโดรนที่มีขนาดเท่าเครื่องบินจริงและมีการขนผู้โดยสาร ซึ่งคาดว่าในปี 2025 จะมีอากาศยานไร้คนขับสำหรับขนส่งผู้โดยสารในอีกหลายประเทศ  ดังนั้น การกำกับดูแลจึงไม่สามารถใช้วิธีการกำกับดูแลแบบเดียวได้ต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยง   ส่วนความรับผิดชอบ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กสทช. ดูแลด้านคลื่นความถี่ตำรวจดูเรื่องความมั่นคงส่วนสำนักงานการบินพลเรือนดูเรื่องความปลอดภัยบุคลากรด้านการบินซึ่งบุคลากรสำคัญคือนักบินต้องมีขีดความสามารถต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายมั่นใจว่าบังคับได้จริงมีทักษะฯลฯและต้องผ่านอบรมหลักสูตรเหมือนสอบใบขับขี่ซึ่งแบ่งเป็นประเภทตามความเสี่ยงการสอบใบขับขี่อากาศยานไร้คนขับคาดว่าออกกฎหมายรับรองได้ภายในปีนี้เพื่อนักบินที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการสอบจะได้มีใบอนุญาตในการใช้งานโดรน

ในส่วนการอนุญาตทำการบินโดรนอากาศยานไร้คนขับเป็นมาตรฐานสากลปัจจุบันมีทีมงานทั่วโลกตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อทุกประเภทจะได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและใช้การบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนที่อยู่บนภาคพื้นทรัพย์สิน  อากาศยาน อื่น ๆ  ทำอย่างไรไม่กระทบกับสิ่งเหล่านี้ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด   สุดท้าย เมื่อมีการออกใบขับขี่และมีการใช้บินกันอย่างมากขึ้น ก็ต้องการจัดการห้วงอากาศ ซึ่งใครจะมาเป็นคนดูแลการจราจรตรงนี้เป็นเรื่องที่ท้าท้ายมาก เพราะต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูง รัฐจะให้ใครจะมาช่วยบริหารจัดการ จะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน สุดท้ายก็ต้องมาดูกันตรงนี้ และคนที่ใช้บริการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไร 

ข้อเสนอแนะด้านกฎหมาย

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ ประธานชมรมสถาบันการศึกษาและบุคลากรด้านการบินแห่งประเทศไทย กล่าวต่อ กฎหมายอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ของประเทศไทย   ว่า ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกับกฎหมาย ควรเสนอกำหนดคำนิยามว่า วัตถุที่เป็นอากาศยานตามมาตรา 4 คืออะไร จะกำหนดยกเว้นหรือไม่ แล้วแก้ไขกฎกระทรวงถ้ายกเว้นกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน  และควรเสนอแก้ไขมาตรา 24  แล้วยกร่างหมวดใหม่เกี่ยวกับอากาศยานไม่มีคนขับให้ครบถ้วน     ทั้งระบบ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการบำรุงรักษา ผู้บังคับ /นักบิน ผู้สังเกตการณ์ ผู้ดำเนินการ  กฎการปฏิบัติการ กฎทางอากาศ และอื่นๆ ให้ครบถ้วน โดยอ้างอิงจากกฎหมายของ ICAO กฎหมายสหรัฐอเมริกา และกฎหมายสหภาพยุโรปให้เหมาะสมกับกิจการที่มีในประเทศไทย  และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนเกินสมควร  โดยทำเป็นภาษาไทยให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจการปฏิบัติและการบังคับใช้

นอกจากนี้ ควรใช้หลัก รัฐคุมสมาคม สมาคมคุมสมาชิก  เพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้และผู้กำกับ  และควรศึกษาทำความเข้าใจระบบกฎหมาย และนำกฎหมายมาเป็นแบบทั้งระบบโดยละเอียด  และควรประสานภายในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย( กพท.) ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  อย่างเช่น กฎระเบียบให้การขออนุญาตการบิน ต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้อนุญาต ทำให้เกิดความยุ่งยาก ควรจะให้แค่ กพท.เป็นผู้ให้การอนุญาตดำเนินการได้ ไม่ต้องถึงรัฐมนตรีตามมาตรา 24

สำหรับกฎหมายไทย โดรนแบบไหนบ้างที่ต้องขึ้นทะเบียน 1.) ติดตั้งกล้องบันทึกภาพ ต้องขึ้นทะเบียนทุกกรณี  2.) น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ ไม่ติดตั้งกล้องและน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม  ไม่ต้องขึ้นทะเบียน         3.) โดรนที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับ หนังสือการขึ้นทะเบียนเป็นผู้บังคับอากาศยานโดรน มีอายุ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ และผู้เล่นต้องอายุตั้งแต่ 18 ปี ถ้าต่ำกว่านั้น ต้องอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ เป็นต้น