กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดตั้งโครงการ “มาลัยวิทยสถาน” เพื่อเป็นโครงการต้นแบบทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก นำร่องพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ จังหวัดเลยและลำปาง โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ/วัฒนธรรม เพิ่มองค์ความรู้ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร/ชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองและเติบโตอย่างยั่งยืน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. บูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเลยและลำปาง ดำเนินการจัดตั้งโครงการ “มาลัยวิทยสถาน” ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินงาน ดังนี้ 1.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการขยายพันธุ์พืชจำนวนมากและผลิตพืชปลอดโรค ลดต้นทุนในการผลิตต้นกล้า 2.การพัฒนาพรรณไม้ สีสันพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ดอกไม้ประดับ และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว 3.การแปรรูปและพัฒนาชาดอกไม้ เช่น กาแฟ ดาวเรือง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 4.การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ฟางข้าว และกก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน 5.การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีระดับครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำปุ๋ยหมัก 6.การป้องกันโรคและแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ และ 7.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ขนส่งพันธุ์ไม้ เพื่อรองรับการสั่งซื้อผ่านตลาดออนไลน์
ยุทธศาสตร์ไม้ดอกไม้ประดับ จังหวัดเลยและลำปาง ประกอบด้วย การส่งเสริมไม้ดอกไม้ประดับ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวดอกไม้งาม 3 ฤดู การพัฒนาองค์ความรู้และความสามารถในการผลิต การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว การสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนฟางข้าวและกก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาสถานแห่งปัญญา
“… ในการดำเนินงานมาลัยวิทยสถาน วว. นำร่องพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ที่จังหวัดเลยและลำปาง โดยดำเนินการครบวงจรในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช คัดเลือกสายพันธุ์ ส่งเสริมและพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ วว. ว่า ได้นำ วทน. ร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.พัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเบญจมาศ ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเบญจมาศดอกและทรงพุ่มสวยสีสด เบญจมาศพันธุ์ วว. 14 ที่สามารถต้านโรคราสนิมได้ 2.พัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงลิ–เซียนทัสรูปแบบไม้กระถาง เพื่อเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้สีสันใหม่ๆ พันธุ์ไม้ชนิดใหม่ 3.พัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเยอบีร่า วิจัยและพัฒนาเยอบีร่าสายพันธุ์ใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่เพื่อผลิตเชิงการค้า โดยเน้นการลดต้นทุนจากต้นแม่พันธุ์และเพิ่มมูลค่าจากดอกสีสันใหม่ๆ 4.พัฒนาการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วย วทน. วิจัยและพัฒนาห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อระดับชุมชน สำหรับขยายพันธุ์จำหน่ายต้นและพันธุ์ให้เกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต 5.พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาดอกกาแฟ วิเคราะห์ตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการของชาเพื่อปรับปรุงสูตร ออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์และยกระดับสินค้าชุมชน และ 6.วิจัยและพัฒนาภาชนะปลูกจากธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายและยกระดับสินค้าไม้ประดับของชุมชนให้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์
นอกจากนี้ วว. และพันธมิตร ยังประสบผลสำเร็จพัฒนา Platform เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ ดังนี้ 1.Smart Farming พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิต ต้านทานโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี ตลอดจนคำนึงถึงคุณภาพ ปริมาณ ต้นทุนที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการตลาด และรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.Agro Product ได้ผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ผลผลิต ทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้นอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน GAP และ Organic 3.Value Addition / Value Creation ผลผลิตจากดอกไม้สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร สุขภาพ และความงาม และ 4.Agro Tourism สนับสนุนการท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดภายใต้โครงการฯ และจังหวัดอื่นๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนา วว. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th Line@tistr IG : tistr_ig