พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เปิดงาน “วิถีเกษตร  BCG  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง”

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เปิดงาน “วิถีเกษตร BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง”

พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์  องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วิถีเกษตร BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดขึ้น เพื่อแสดงผลสำเร็จการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาตอบโจทย์ภาคการเกษตรของประเทศ ผ่านโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ตามนโยบายรัฐบาลภายใต้โครงการ พ.ร.ก.เงินกู้ และโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตรโดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตชีวภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมตามหลักการเกษตรปลอดภัย และเป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือการสนับสนุนทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ วว. ช่วงปี พ.ศ. 2566-2570   ในวันที่  28  ธันวาคม 2564    วว.  เทคโนธานี  คลองห้า  จังหวัดปทุมธานี

พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์  องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง  กล่าวว่า  การดำเนินงาน BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของ วว. เป็นแนวคิดที่ดีและสมควรยิ่งที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานให้ขยายผลมากยิ่งขึ้น  ขอขอบคุณ วช. ที่เห็นความสำคัญของการนำองค์ความรู้เกษตรกรรมไปช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน รวมทั้งขอขอบคุณ วว. ที่ได้ระดมสรรพกำลัง นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันมีประโยชน์ไปช่วยดำเนินงานโครงการจนประสบผลสำเร็จ จึงเห็นได้ว่า เมื่องบประมาณ กำลังคน และองค์ความรู้มาบรรจบกัน สามารถสร้างผลงานให้กับชุมชนและเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะการดำเนินงานไม้ดอก ไม้ประดับนั้น มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนา ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อให้เกษตรกรหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย แล้วหันมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวทดแทน ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมว่า การปลูกไม้ดอกไม้ประดับนั้น สามารถเพิ่มมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ได้สูงกว่าพืชชนิดอื่น 

“…โครงการหลวง และ วว. ได้ดำเนินงานมาในทิศทางเดียวกัน  อันจะสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงให้แก่ประเทศ ผ่านการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน  ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริใน   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ที่พวกเราได้ยึดมั่นในการดำเนินงานเสมอมา การหารือความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ชัดเจน เพื่อการพัฒนาโครงการหลวงในทุกมิติ ครอบคลุมเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม…” พลเอก กัมปนาท  รุดดิษฐ์  กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง   ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอก ไม้ประดับ ด้วยนวัตกรรมเกษตร ตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว.ว่า วช. มอบหมายให้ วว.  เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการฯ  เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับภาคเกษตรเป็นธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่อเนื่อง มุ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในการช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าเดิมและเป็นแหล่งวิทยาการแห่งการเรียนรู้  สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม  ในปี 2564 ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดเลย เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆของประเทศ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน  4  กิจกรรมย่อย คือ  1.การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2.การพัฒนาปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ  3.การยกระดับระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ  และ 4.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ไม้ตัดดอกและไม้ประดับกระถางส่งตรงผู้บริโภค

 ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กล่าวว่า  วว. นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG  เป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อร่วมยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การใช้ประโยชน์จากสารชีวภัณฑ์เป็นโครงการสำคัญ ที่ วว. มุ่งเน้นและนำมาใช้ขับเคลื่อนโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ในการดำเนินงานนอกจากจะขยายการผลิตสารชีวภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์และเพื่อใช้ในชุมชนแล้ว วว. ยังก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร เพื่อขยายผลและส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ตามแนวทางเกษตรปลอดภัย อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภค  สิ่งแวดล้อม  และลดการนำเข้าสารเคมี 

ส่วนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร โดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว. นั้น  ได้ดำเนินงานสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการได้จำนวน  6  กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก รวมทั้งจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและ วว. ได้นำสารชีวภัณฑ์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืชไปให้เกษตรกรใช้ในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อตอบสนองแนวทางเกษตรปลอดภัย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยรวม  

“…มูลนิธิโครงการหลวง และ วว. มีสายสัมพันธ์อันยาวนานเป็นเวลากว่า 50 ปี โดย วว. ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยสนับสนุนงานโครงการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อตอบสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่สูง และลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน วว. ขอตั้งปณิธาน ที่จะทำงานเพื่อตอบสนองพระราชดำริและพระราโชบายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างที่สุด เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้รุ่งเรืองสถาพร…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว  

“งานวิถีเกษตร BCG ขับเคลื่อน เศรษฐกิจพอเพียง” เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับนำพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางมาลัยวิทยสถานจากพื้นที่ต่างๆ มาร่วมจัดแสดงในรูปแบบ สวนไม้ดอกไม้ประดับมาลัยวิทยสถาน อว. ณ TISTR  Park  วว. เทคโนธานี คลองห้า  จังหวัดปทุมธานี   โดย วว. และ วช. มุ่งหวังให้สวนฯ นี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไม้ดอกไม้ประดับอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการและชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 

ในส่วนการประชุมหารือความร่วมมือการสนับสนุนทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ วว. ช่วงปี พ.ศ. 2566-2570 มุ่งเน้นกรอบความร่วมมือ 5 ด้าน คือ ด้านการวิจัย (1.ด้านเห็ดเมืองหนาวและเห็ดเศรษฐกิจ  2.เห็ดป่าไมคอร์ไรซา และ 3.วานิลลา) การบริการวิชาการและเทคโนโลยี  การพัฒนาบุคลากร  การสนับสนุนด้านอาคารสถานที่  และการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือ  โดยการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและ วว. ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองหน่วยงานให้ต่อเนื่องและขยายขอบเขตการดำเนินงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศ