“ 61 ปี วว.” ขับเคลื่อน วทน. สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ชุมชนและประเทศชาติ

“ 61 ปี วว.” ขับเคลื่อน วทน. สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ชุมชนและประเทศชาติ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก้าวสู่การดำเนินงานครบรอบ 61 ปีเต็ม ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2567  เป็นก้าวที่มั่นคงและยั่งยืนในฐานะหน่วยงานชั้นนำในการวิจัยพัฒนาและบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ  รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน  บุคลากร ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ พร้อมเป็นกลไกร่วมส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

วว. มุ่งเน้นการสร้า ระบบนิเวศนวัตกรรม  (Innovation  Ecosystem)  และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ  โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ในรูปแบบการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ วว. JUMPที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการให้บริการแบบ One Stop Service ออนไลน์ 24 ชั่วโมง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างทันท่วงที เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

โดยนำ วทน. เข้าไป แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI  for  Total  Solutions)  มุ่งบริการด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs  ผู้ผลิตสินค้า OTOP  วิสาหกิจชุมชน  ตลอดจนเกษตรกร ที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ  (idea)  การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ  การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system)  ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น

บนเส้นทางการดำเนินงานของ วว. กว่า 60 ปีนั้น มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ผลงาน ตอบโจทย์ ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศและพี่น้องประชาชน ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ส่งเสริมการนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ในทางปฏิบัติให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน  สถาบันการศึกษา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ส่งผลให้ วว. เป็นองค์กรแกนหลักที่สร้าง Impact ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ในบริบทการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพ  พัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการ OTOP , SMEs   วิสาหกิจชุมชน  และเกษตรกร  ผ่านโครงการสำคัญๆ อาทิเช่น

1) โครงการ Quick win : Up-Skill  Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.   สามารถเพิ่มพูนทักษะ ความรู้  ให้กับผู้ประกอบการ SMEs บุคลากรภาครัฐและเอกชนในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กว่า 1,100 คน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจพื้นที่ ในสาขาที่ประเทศต้องการ  พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เป็นรูปธรรม

2) โครงการการประเมินและพัฒนาศักยภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่องจังหวัดยากจน  ได้แก่  จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส  เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง กาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ  ยโสธร และศรีสะเกษ  โดยการสนับสนุนทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มุ่งเน้นให้เกิดอาชีพ  สร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนจนเป้าหมาย ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี และขยายไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โดยประสบผลสำเร็จในการพัฒนารูปแบบโมเดลแก้จน คือสร้างธุรกิจใหม่  Up Skill    เพิ่มรายได้

3) โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (Area based) ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่  ได้รับการสนับสนุนทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เน้นการลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ในพืชเศรษฐกิจใหม่ คือ สมุนไพรและพืชอัตลักษณ์  อาทิ จังหวัดน่าน เพิ่มมูลค่าสมุนไพรและมะม่วงหิมพานต์ เกิดมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.79 รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 62.22   พื้นที่จังหวัดเลย  นนทบุรี  เชียงใหม่  ลำปาง รวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 ราย ในรูปแบบเครือข่ายคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี

4) โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรระดับชุมชนท้องถิ่น ทำเกษตรกรรมของจังหวัดได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมั่นคงในอาชีพ  ในพื้นที่ 8 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 5,500 คน  สร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 30 นวัตกรรม เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่า 48 ล้านบาท

5)  โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน  ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง  โดยจัดสร้างต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย  อำเภอบ้านฉาง  จังหวัดระยอง  ช่วยแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี  พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  2,400  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ วว. ในก้าวต่อไป มุ่งเน้นในกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมโลก  ดังนี้

  1. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของประเทศ
  2. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
  3. เร่งการพัฒนาบริการวิเคราะห์ทดสอบมูลค่าสูงที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อลดการส่งวิเคราะห์ทดสอบต่างประเทศของผู้ประกอบการ
  4. ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรรม พร้อมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตรคู่ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันให้สำเร็จ

ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า   การดำเนินงานของ วว. ในอนาคต ในบทบาทการเป็นองค์กรส่งเสริมและเป็นแกนหลักที่จะทำให้ภาคประชาชน OTOP , SMEs  ประสบผลสำเร็จ  มุ่งนำ วทน. ไปเสริมสร้างผลิตภาพการผลิตให้ดีขึ้น สร้างนวัตกรรม ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส  อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม value added … value creation  ทำให้ประเทศหลุดจากกับดักทางรายได้ คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนมีความเท่าเทียม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน  เป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายใต้บริบทและวัฒนธรรมขององค์กรในการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสร้างโอกาสแก่บุคลากรในองค์กร โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้งการกระตุ้นให้บุคลากรมีแรงบันดาลใจ มีความสบายใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน  เปี่ยมด้วยศักยภาพและพร้อมรับพลวัตรการเปลี่ยนแปลง อันจะนำพาให้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางที่กำหนดและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน และรวดเร็ว

“…มุ่งเน้นการดำเนินงานผลิตผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย  โดยเฉพาะการวิจัยที่มี Technology Roadmap ขององค์กรเป็นตัวนำและทำต่อเนื่อง เป็นผลงานสร้างนวัตกรรมพร้อมใช้ 60% และฐานองค์ความรู้ 40% โดยมีแนวทางที่ชัดเจนว่างานวิจัยของ วว. ต้องมีผู้นำไปใช้เกิดขึ้นให้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม และเป็น market driven มากขึ้น ต้องไม่อยู่บนหิ้ง  นอกจากนี้ วว. ให้ความสำคัญในการมุ่งเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จให้กับ ผู้ประกอบการ SMEs , OTOP และประชาชน อย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต  ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่า  การสร้างเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ เอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงบูรณาการ โดยอยู่บนฐานของทรัพยากรชีวภาพ (Bio-based) จะเป็นกลไกสำคัญที่ วว. จะดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สร้างประโยชน์อย่างครบวงจร (Total Solution Provider) พัฒนาเทคโนโลยีที่สนองความต้องการตามบริบทของผู้ใช้ประโยชน์ (Appropriate technology)  และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนเชิงพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

วว. พร้อมเป็นที่ปรึกษาและให้บริการวิจัยพัฒนา บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000  E-mail : tistr@tistr.or.th หรือที่วว. JUMP”